วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รณรงค์ปลูกต้นไม้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริที่เป็นแนวคิด และวิธีการของการฟื้นฟูสภาพป่าและการปลูกป่าซึ่งจำแนกออกได้ดังนี้

1.การฟื้นฟูตามหลักธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงชี้ แนะแนวทางโดยถือหลักให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริเอาไว้ว่า "ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" ด้วยวิธีการ 3 วิธี คือ
1. " ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว"
2. " ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น…"
3. " ในสภาพป่าเต็งรังป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ ก็จะแตกกิ่งออกมาอีก ถึงแม้ต้นไม่สวยแต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้"



2.การปลูกป่าทดแทน 
ในขณะนี้ประเทศไทยเรามีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ ประมาณการได้เพียง 80 ล้านไร่เท่านั้น หากจะเพิ่มเนื้อที่ป่าไม้ให้ได้ประมาณร้อยละ40 ของพื้นที่ประเทศแล้ว คนไทยจะต้องช่วยกันปลูกป่าถึง48 ล้านไร่โดยใช้กล้าไม้ปลูกไม่ต่ำกว่าปีละ100 ล้านต้นใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะเพิ่มป่าไม้ได้ครบเป้าหมายที่กำหนดไว้เท่านั้นการปลูกป่าทดแทนจึงเป็นแนวทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานมรรควิธี ในการปลูกป่าทดแทนเพื่อคืนธรรมชาติสู่แผ่นดินด้วยวิถีทางแบบผสมผสานกันในเชิงปฏิบัติดังพระราชดำริ ความตอนหนึ่งว่า" การปลูกป่าทดแทนจะต้องทำอย่างมีแผนโดยการดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาชาวเขาในการนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชลประทาน และฝ่ายเกษตรจะต้องร่วมมือกันสำรวจต้นน้ำในบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อวางแผนปรับปรุงต้นน้ำ และพัฒนาอาชีพได้อย่างถูกต้อง"




ทรงให้ความสำคัญกับพืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ทรงเตือนให้ระวังการนำพันธุ์ไม้ต่างถิ่นเข้าไปปลูก โดยไม่ได้ศึกษาอย่างดีพอมาก่อน ลักษณะของป่าที่ปลูกทดแทน ในการปลูกป่าทดแทนทรงกล่าวถึง การปลูกป่า 3 อย่าง ให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นการรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยพระปรีชาญาณอย่างชาญฉลาดให้เกิด ประโยชน์แก่ปวงชนมากที่สุดยาวนานที่สุดและทั่วถึงกัน
การปลูกป่าอย่างที่หนึ่ง เป็นการปลูกไว้ใช้สอย พันธุ์ไม้ที่ปลูกเป็นไม้โตเร็ว เช่น ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ และสะเดา ประโยชน์ใช้ตัดกิ่งมาทำฟืนเผาถ่าน ก่อสร้างและหัตถกรรม
การปลูกป่าอย่างที่สอง เป็นการปลูกป่าไว้ใช้เป็นผลรับประทานได้ เป็นไม้พืชผลนานาชนิดเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม เช่น มะพร้าว ขนุน มะม่วง มะละกอ กล้วย รวมทั้งพืชผักต่างๆ ตลอดจนผักสวนครัว
การปลูกป่าอย่างที่สาม เป็นการปลูกป่าไว้ใช้เป็นฟืน จะต้องคำนวณพื้นที่ที่ใช้ปลูกตามสัดส่วนของผู้ใช้ จะต้องมีการปลูกทดแทนและระบบหมุนเวียน เพื่อจะช่วยให้มีไม้ฟืนไว้ใช้ตลอดเวลา
ประโยชน์ที่สี่ เป็นผลพลอยได้จากการปลูกป่าทั้งสามชนิดช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย
ในการปลูกป่านั้นจะต้องปลูกพันธุ์ไม้ประเภทต่าง ๆ คละกันไป โดยมีพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ทำฟืน ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้ดินพังทลายในฤดูฝน และรักษาความชุ่มชื้นของดินด้วย เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของราษฎรได้


วิธีการปลูกป่าทดแทน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการปลูกป่าทดแทนตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่เหมาะสมกล่าวคือ

1. ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
"การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้นแล้วจำต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วนนั้นควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็ว คลุมแนวร่องน้ำเสียก่อนเพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อย ๆ ทวีขึ้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้ งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าเพราะไฟจะเกิดง่ายหากป่าขาด ความชุ่มชื้นในปีต่อไปก็ให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ถัดขึ้นไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีกต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี "

2. การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา
" จะต้องปลูกต้นไม้หลายๆชนิดเพื่อให้ได้ประโยชน์เอนกประสงค์คือมีทั้งไม้ผล ไม้สำหรับก่อสร้างและไม้สำหรับทำฟืนซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำซึ่งเมื่อตัดไม้ใช้แล้วก็ปลูกทดแทนหมุนเวียนทันที "
3. การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง
"ต้องมีการปลูกป่าโดยปลูกไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืนซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนแบบธรรมชาติทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย "


4. ให้มีการปลูกป่าที่ยอดเขา เนื่องจากสภาพป่าที่เขาสูงทรุดโทรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำตอนล่างและคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีเมล็ดเป็นฝักเพื่อ ให้เป็นกระบวนการธรรมชาติปลูกต่อไปจนถึงตีนเขา
5. ปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือเหนืออ่างเก็บน้ำที่ไม่มีความชุ่มชื้นยาวนานพอ
6. ปลูกป่าเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำและแหล่งน้ำให้มีน้ำสะอาดบริโภค
7.ปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูก และดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นการดูแลฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า
8. ปลูกป่าเสริมธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า


เทคนิคในการปลูกป่า ได้พระราชทานข้อคิดเกี่ยวกับวิธีการปลูกป่าที่มี ประสิทธิภาพหลายวาระ สรุปความได้ว่า
(1) ต้องรักษาหน้าดินเอาไว้ โดยห้ามไถหน้าดินออกก่อนปลูกป่า และห้าม ใช้ยาฆ่าหญ้า
(2) ปลูกต้นไม้ที่มีชั้นหรือขนาดความสูงต่างระดับกัน ทั้งไม้ยืนต้นที่มี ความสูง และไม้ชั้นล่างหรือไม้คลุมดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นไม่ให้ระเหยไปใน อากาศ
(3) ปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วเพื่อเป็นไม้เบิกนำ ปลูกพันธุ์พืชไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบแทรกเข้าไปในป่า เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน
(4) บริเวณพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง อาจใช้พืชที่มีเมล็ดนำไปปลูกไว้บนยอดเขา เพื่อให้ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ
(5) เริ่มปลูกในบริเวณใกล้แหล่งเก็บน้ำและพื้นที่ชุ่มชื้นก่อน เช่น รอบ อ่างเก็บน้ำหรือฝายหรือตามแนวร่องน้ำ แล้วค่อยขยายพื้นที่ปลูกออกไป โดยพยายาม ใช้ประโยชน์จากน้ำที่ไหลมาจากยอดเขา สู่พื้นที่ตอนล่างให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดย การจัดทำฝายต้นน้ำ (Check Dam) และทำคูน้ำระบบก้างปลาเพื่อรักษาความชุ่ม ชื้นของดิน ทั้งยังเป็นแนวป้องกันไฟป่าเปียก (Wet Fire Break)





การพัฒนาเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน 

หลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 พื้นที่ป่าไม้ในประเทศ ถูกราษฎร บุกรุกและครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประมาณ 1 ล้านครอบครัว มีการเรียกร้องขอ กรรมสิทธิ์ ในการครอบครองพื้นที่ป่าไม้ที่ได้บุกรุกครอบครองไว้ เป็นปัญหาที่ทวีขึ้นทุก ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยพยายาม เปลี่ยนราษฎรจาก สภาพผู้บุกรุกทำลายป่าให้กลายมาเป็นผู้อนุรักษ์ทรัพยากรป่า ด้วยทรงตระหนักถึงการพึ่งพาของคนและป่า ดังนั้น ในการที่คนจะอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ทรงมีแนวพระราชดำริ ดังนี้




 

1. จัดจำแนกความเหมาะสมการใช้ที่ดินตามลักษณะโครงสร้างของดิน การพัฒนาชุมชนต้องคำนึงถึงการจัดพื้นที่อย่างเหมาะสมแก่ราษฎร ซึ่ง ประกอบด้วย พื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน พื้นที่ทำกินหรือพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่อนุรักษ์
2. ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยให้ราษฎรปลูกพืชเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้
3. ส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมในกิจกรรมการปลูกป่า และจัดการ ทรัพยากรด้วยตนเอง นอกจากการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรเพื่อเพิ่มรายได้ แล้ว ยังมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรมีส่วนร่วมในกิจกรรมการปลูกป่า ได้ทรงเสนอแนะให้ ตั้ง "ป่าไม้หมู่บ้าน" ขึ้นมา เพื่อให้ราษฎรเพาะต้นกล้าให้แก่ราชการ เป็นการเอื้อประโยชน์ ต่อกัน

การเสริมสร้างคุณธรรมและจิตสำนึก งานด้านอนุรักษ์ป่าไม้และต้นน้ำลำธารจะประสบผลดี มีความต่อเนื่อง และรักษาความสมบูร์ของธรรมชาติไว้ได้อย่างยั่งยืนเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรมและจิตสำนึกของชาวบ้านเป็นสำคัญ เพราะแม้จะมีการ ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ มากมายเพียงไร ทุ่มงบประมาณสักเท่าใด มีวิทยาการมีระบบทันสมัย เพียงไร หากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ร่วมใจ ไม่เห็นด้วย งานในพื้นที่นั้นก็ย่อมยากที่จะ ประสบความสำเร็จ
แนวพระราชดำริที่เน้นการสร้างเสริมคุณธรรมและจิตสำนึก จึงเป็นปัจจัยอันสำคัญที่ทำให้ต้นน้ำลำธารของเมืองไทยวันนี้ ยังมีอยู่และมั่นใจได้ว่าจะอยู่อีกนาน เท่านาน 
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมหน่วยงานอย่างเอา พระราชหฤทัยใส่ และทรงหนุนช่วยอย่างจริงจัง ทรงรับรู้ถึงสภาพการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ ทุกข์สุข ของผู้ปฏิบัติงาน พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ ย่อมเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ชะโลมเลี้ยงปณิธานและอุดมการณ์แห่งการทำงานให้หนักแน่นมั่นคง เมื่อทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ราชการมีพลังใจ มีสิ่งยึดเหนี่ยวร่วม กัน ผลก็คือ พลังสามัคคีในการประกอบกิจการงาน อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น